หน้าเว็บ

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Blind Spot มุมอับกับอุบัติเหตุรอบตัวรถ

Blind Spot มุมอับกับอุบัติเหตุรอบตัวรถ


visible = สามารถสังเกตเห็นได้ invisible = จุดบอด

ช่วงนี้เรื่องราวเกี่ยวกับรถพ่วง รถบรรทุกขนาดใหญ่กำลังอยู่ในกระแส เลยถือโอกาสกล่าวถึงจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายที่อยู่บริเวณโดยรอบตัวรถ

จุดบอด หรือ Blind Spot ก็คือ จุดที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้นั่นเอง จะเนื่องด้วยโครงสร้างของตัวรถเอง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เรานำมาประดับตกแต่งตัวรถก็ตาม

ดังนั้นการเพิ่มความระมัดระวังในจุดบอดดังกล่าวจึงสิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนโดยทั่วไปจะต้องทราบ และ หลีกเลี่ยง รวมไปถึงหาวิธีการที่จะลดจุดบอดให้เหลือน้อยที่สุด


และอย่างที่ผมมักเน้นย้ำในการจัดการฝึกอบรมทุกครั้งก็คือทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดการกับปัญหานั้นๆ คือถ้าเป็นเราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
- เริ่มจากการจัดการภายในตัวรถกันก่อนเลยดีกว่า ผู้ขับขี่จะต้องจัดการกับสิ่งของภายในห้องโดยสารที่อาจบดบังการมองเห็นได้ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยที่ห่อยอยู่บริเวณกระจกมองหลัง, ตุ๊กตาบริเวณหน้าคอนโซนและกระจกหลัง, สติ๊กเกอร์หน้ารถ, ผ้าม่านกันแดด
- การปรับตั้งกระจกมองหลัง และกระจกมองข้าง
- จุดบอดต่างๆของตัวรถตามรูปภาพที่แนบมา
- เทคนิคการลดจุดบอด โดยปกติแล้ว ผู้ขับขี่สามารถลดจุดบอดด้วยวิธีการง่ายๆ ได้แก่ การเคลื่อนสายตาตลอดเวลา อย่างน้อยก็จะต้องมองกระจกข้าง หรือกระจกมองหลังทุกๆ 6 - 8 วินาที ในกรณีที่ขับไปในทางตรง และมองข้ามไหล่ทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนช่องการจราจร หรือเปลี่ยนเลน โดยยึดหลัก LSM (หลักปฏิบัติในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขณะขับรถ) ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป

และอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่ามิใช่แต่ผู้ขับขี่เท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เราเองก็จะต้องเรียนรู้ว่ารถประเภทต่างๆ มีจุดบอดตรงไหนบ้าง และหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในจุดนั้น อย่างเช่นการหยุดรอจนกว่าจะคิดว่าปลอดภัย แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็จำเป็นที่ต้องทำ ให้ผู้ขับขี่สามารถสังเกตุเห็นเราได้ ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี อย่างเช่นการบีบแตร การเพิ่มจุดสังเกตุด้วยการยกมือ เป็นต้น



รูปภาพ : rideons.wordpress.com
เรียบเรียง :www.addkusa.com

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

Zero Incident ตอน เริ่มต้นที่คน

Zero Incidents
ทีนี้เราก็มาต่อกันด้วยเรื่องที่ว่า  ก็เมื่อรู้แล้วว่าอะไรเป็นปัจจัย  และอะไรเป็นสาเหตุ  ที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ  คำถามที่มักจะได้ยินก็คงไม่พ้น  “แล้วจะจัดการอย่างไร”  ทีนี้ก็จะเริ่มมีผู้รู้ออกมาให้ความคิดเห็น  “ง่ายนิดเดียว  ก็ตั้งสติก่อนสตาร์ท”  ได้ผลที่เดียวครับ  อุบัติเหตุถึงได้เพิ่มขึ้นไม่ยอมลดลงอย่างทุกวันนี้  ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ต้องการที่จะต่อว่าใคร  แต่มันเป็นวิถีทางแบบไทยคือนึกอะไรไม่ออกก็อิงธรรมะไว้ก่อน  แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าไอ้ตั้งสติก่อนสตาร์ทจะทำอย่างไร  “ดื่มไม่ขับ  ขับไม่ดื่ม  ขับไม่ซิ่ง”  คำตอบเหล่านี้ก็จะเริ่มพลั่งพลูออกมา  อันนี้ก็จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนที่สั่งสมมาทั้งทางตรง  และทางอ้อม
เอาเป็นว่าเรามาพูดถึงการแก้ปัญหาที่แท้จริงกันดีกว่าครับ  โดยเริ่มจากปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ  “คน  หรือ Man  กันก่อนเลย  จากสถิติที่ได้พูดถึงในตอนที่แล้วพบว่า  คน  เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุถึง  95%  ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Incident  ขึ้น  “คน”  จะต้องได้รับการพัฒนา  4 ด้านด้วยกันคือ
1.               K – Knowledge  กล่าวคือ  จะต้องได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเพียงพอ
2.               U – Understanding  กล่าวคือ  จะต้องมีความเข้าใจถึงเหตุและผลอย่างแท้จริง
3.               S – Skill  กล่าวคือ  จะต้องมีทักษะหรือความชำนาญ
4.               A – Attitude  กล่าวคือ  จะต้องมีทัศนะคติที่ดี
โดยผ่านกระบวนการจัดการ ( Management )  ที่ถูกต้องและเหมาะสม
ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง  สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  นิวซีแลนด์  ออสเตรเลีย  หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น  จะให้
ความสำคัญกับการให้ความรู้  หรือกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทาง 

อย่างในประเทศญี่ปุ่นได้จัดให้มีหลักสูตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียน  ตั้งแต่ระดับอนุบาล  ไปจนถึงมหาลัย  ในอเมริกา  หรืออังกฤษเอง  ผู้ที่จะทำใบขับขี่ต้องผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการขับรถอย่างปลอดภัย  อีกทั้งยังต้องมีผู้ควบคุมในการฝึกหัดขับในช่วงแรกก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต  โดยอาจเป็นผู้ปกครองที่มีใบอนุญาตขับรถ  หรือครูฝึกหัดขับรถตามสถาบันต่างๆ  ตามระยะเวลาที่กำหนด  โดยการเรียนและฝึกการขับรถอาจใช้เวลาตั้งแต่  1 เดือน  ถึง  1 ปีเลยทีเดียว

สำหรับในบ้านเราก็มีหน่วยงานต่างๆ  ที่เข้ามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมากมาย  แต่มักออกไปในแนวทางต่างคนต่างทำ  เนื้อหาวิชาก็จะขึ้นอยู่กับความถนัด  และเป้าหมายทางการตลาดของแต่ละองค์กร  หนำซ้ำยังมีการลักลั่น  หรือการเรียนการสอนแบบข้ามขั้นตอน  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการเสริมแรงให้เกิดอุบัติเหตุอีกด้วย

เพื่อให้องค์กรต่างๆ  หรือผู้สนใจสามารถวางแนวทางในการจัดการฝึกอบรมการขับรถอย่างปลอดภัย  และการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว  จะได้แนะนำความรู้พื้นฐานที่จำเป็น Knowledge Base ในตอนต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

จากที่เราได้เรียนรู้กันมาในก่อนหน้านี้แล้วว่า  อุบัติเหตุ  เป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่นำพาไปสู่การเกิดเหตุการณ์ต่างๆ  ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดเป็นอุบัติเหตุก็ได้  ดังนั้น  ผู้เขียนจึงขออนุญาตอธิบายในความหมายของปัจจัยที่จะนำไปสู่เหตุการณ์  หรือ  Incident  ( ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :  http://addkusa.blogspot.com/2013/01/safety-driving-risk-management-incident.html  หรือ  http://addkusa.com/index.php/ข่าวสาร/สาระน่ารู้/26-Incident-Accident-Near-Miss.html )



ทีนี้เราก็มาดูกันว่าอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่  Incident 
ปัจจัยที่ 1  ก็คือ    คน    หรือ    Man    นั่นเองครับ  ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักและปัจจัยเสริมที่สำคัญที่สุด
ปัจจัยที่ 2  ก็คือ    ยานพาหนะ    หรือ    Vehicle 
ปัจจัยที่ 3  ก็คือ    สภาพแวดล้อม    หรือ    Environment 

จากผลการวิจัย  ในประเทศออสเตรเลียซึ่งมีการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน  โดยเฉพาะด้านโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมทางถนนเป็นอย่างดี  พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีปัจจัยซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกัน  เรียกว่าห่วงโซ่ของเหตุการณ์  หรือ  เหตุการณ์ (  Incident  )  โดย              
-  ปัจจัยที่เกิดจากคน ประมาณ 95 ครั้งในการชน 100 ครั้ง
-  ปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมบนถนน ประมาณ 28 ครั้งในการชน 100 ครั้ง
-  ปัจจัยที่เกิดจากรถ ประมาณ 8 ครั้ง ในการชน 100 ครั้ง

จากภาพดังกล่าวจะเห็นได้ว่านอกจากคน (  Man  )  จะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุแล้ว  ยังเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดอุบัติเหตุจากปัจจัยต่างๆด้วย  ดังคำกล่าวที่ว่า    รถไม่ดีถนนไม่ดีป้องกันได้  แต่คนไม่ดีป้องกันยาก   

สำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศการปีใหม่ที่ผ่านมา (27 ธันวาคม 2555-2 มกราคม 2556 )  พบว่า 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
เมาแล้วขับ                              ร้อยละ 32.42
ขับรถเร็ว                                ร้อยละ 25.94
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
รถจักรยานยนต์                     ร้อยละ 82.21 
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่
ไม่สวมหมวกนิรภัย              ร้อยละ 28.13 
(ที่มาของข้อมูล : ศปภ.)
ในตอนต่อไปจะได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ  และแนวทางในการป้องกันการเกิดเหตุ


วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

Incident / Accident / Near Miss

Incident / Accident / Near Miss

ก่อนที่เราจะมาพูดกันถึงเรื่องของสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและวิธิการป้องกันอุบัติเหตุ ผมขออนุญาตทำความเข้าใจในเรื่องของคำว่า อุบัติเหตุเสียก่อน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในเรื่องของการป้องกันอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการใช้รถใช้ทาง หรือ ในสถานะการณ์ต่างๆ  และสามารถแยกแยะ ลักษณะของอุบัติเหตุ ตามหลักสากลได้อย่างถูกต้อง

เนื่องจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปบรรยายในเรื่อง "Safety Driving & Risk Management" หรือ "การขับรถอย่างปลอดภัย  และการบริหารจัดการความเสี่ยง" ตามสถานประกอบการต่าง และได้รับรายงานการเกิดอุบัติเหตุ (Incident & Accident Report) จากการตรวจสอบรายงานดังกล่าวพบว่า หลายองค์กรยังมีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่ แต่ก็ไม่แปลกครับเพราะเรื่องนี้สำหรับประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก แต่ก็ไม่ถือว่าใหม่สะทีเดียว เนื่องจากมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบหรือประเมิน สามารถใช้ได้เช่นเดียวกับ ระบบมาตรฐาน TIS 18000 พอมาถึงตรงนี้บรรดา จป. ทั้งหลายถึงกับร้องอ๋อกันเลยที่เดียวเชียว สำหรับผู้ที่ยังงงๆ กันอยู่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด
ก่อนอื่นเรามาให้คำจำกัดความกันก่อนท่าจะดี

Incident (เหตุการณ์) หมายถึง สถานะการณ์ ที่อาจจะ หรือ ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และ เป็นเหตุนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ (Accident) หรือเกือบจะเกิดอุบัติเหตุ (Near Miss)

Accident (อุบัติเหตุ) หมายถึง เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ที่อาจเกิดขึ้น โดยไม่ได้คาดคิด หรือ ขาดการควบคุม เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีผลให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วย เสียชีวิต และ / หรือ เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สิน รวมถึง ความสูญเสียที่เกิดต่อสภาพแวดล้อม และ / หรือ สังคมด้วย

Near Miss (เหตุการณ์ที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุ) หมายถึง เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์  เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกือบจะได้รับบาดเจ็บ  เจ็บป่วย เสียชีวิต และ / หรือความสูญเสียต่อทรัพย์สิน รวมถึง ความสูญเสียที่เกิดต่อสภาพแวดล้อม และ / หรือ สังคมด้วย
ที่นี้ลองมาดูกันให้ชัดเจนว่าอะไรเป็น Incident อะไรเป็น Accident และอะไรเป็น Near Miss

ตัวอย่าง

ขณะที่คุณกำลังขับรถไปบนถนนด้วยความเร็ว รถเกิดตกหลุมและเสียหลัก - Incident

รถเสียหลักไปชนกับต้นไม้ข้างทาง ทำให้คุณได้รับบาดเจ็บสาหัส - Accident

ขณะที่รถเสียหลัก คุณสามารถตั้งสติและประคองรถให้รอดพ้นมาได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด - Near Miss

ทีนี้เราก็เข้าใจตรงกันแล้วนะครับว่าทั้งสามคำมีความแตกต่างกันอย่างไร คำถามที่ผมมักได้รับเสมอว่าแล้วในหลักการของ Defensive อะไรควรให้ความสำคัญมากกว่ากัน
ตามหลักการของ Defensive แล้วเราจะไม่นำพาตัวเราเข้าไปสู่อุบัติเหตุ และ อุบัติที่เหตุที่เกิดขึ้นเราได้ทำการป้องกันไว้เป็นอย่างดีแล้ว แต่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน หรือเป็นอุบัติเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ จากสถานะการณ์ดังกล่าวเราจะสังเกตุได้ว่า Incident ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร  พอจะเดากันออกไหมครับ ใช่แล้วครับ ปัจจัยแรกก็คือความเร็ว แน่นอนอยู่แล้วครับ ความเร็วเป็นสาเหตุ อันดับ 1 ของการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุที่สองก็คือ การขาดทักษะในการมอง หรือ การขาดประสิทธิภาพในการมองเห็นนั่นเอง ซึ่งจะกล่าวถึงในเรื่องต่อ ๆ ไป  ทั้งนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เกิด เป็น Accident หรือ Near Miss ได้อีกหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ทักษะ และ ความชำนาญในการขับรถ สภาพความพร้อมทางร่างกาย  และจิดใจของผู้ขับขี่  สภาพของถนน  และปัจจัยเกื้อหนุนทางสภาพแวดล้อม  รวมทั้งยานพาหนะที่ใช้
ตอนนี้ทุกท่านก็คงทำความเข้าใจกันได้โดยไม่ยาก ว่างๆ ท่านก็ลองยกเคสขึ้นมาแล้วลองวิเคราะกันเล่นๆ ดูติดขันตรงไหนก็ลองเมลล์มาคุยกันนะครับ
ในตอนต่อไปเราจะมาพูดกันถึงสาเหตุของอุบัติเหตุ เพื่อหาวิธีการป้องกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวท่านเอง และผู้ใช้ทางร่วมกัน